ศิลปะสาธารณะ

การใช้วัสดุรีไซเคิลระดับอัพไซเคิลและวัสดุที่ดีต่อสุขภาพทำให้งานศิลปะที่ Gradient Canopy เน้นความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

3 นาที

ผลงานศิลปะ The Orb (ดิ ออร์บ) และ Go (โกะ) ในพลาซ่าของ Google Visitor Experience

ผลงานศิลปะ The Orb (ดิ ออร์บ) และ Go (โกะ) ในพลาซ่าของ Google Visitor Experience ภาพ: Iwan Baan สำหรับ Google

เรามุ่งมั่นที่จะสร้างพื้นที่ทำงานที่ใช้งานได้จริงและดีต่อสุขภาพ ซึ่งมอบช่วงเวลาแห่งความประหลาดใจและความสุขได้เช่นกัน ถือเป็นมิติที่ 3 ที่จับต้องไม่ได้ซึ่งช่วยให้เรารู้สึกมีส่วนร่วม กระปรี้กระเปร่า และสบายใจ ด้วยการเตือนให้เราระลึกถึงความเป็นมนุษย์ที่มีร่วมกัน ศิลปะเป็นวิธีที่น่าสนใจในการเข้าถึงองค์ประกอบด้านมนุษยธรรมนี้ และตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา เราได้จัดตั้งโครงการศิลปะขึ้นเป็นจำนวนมากที่ Google รวมถึงโครงการ GoogleArts ภายในองค์กร โครงการริเริ่ม Google Arts & Culture และโครงการศิลปินในพำนักของเรา

ที่ Google Visitor Experience (ตั้งอยู่ที่สำนักงาน Gradient Canopy แห่งใหม่ของ Google) โครงการศิลปะสาธารณะโดยเฉพาะได้ขยายแนวคิดนี้ไปสู่ชุมชนเมาน์เทนวิวที่ใหญ่ขึ้น โดยมีผลงานศิลปะสาธารณะ 6 ชิ้นกระจายอยู่ทั่วพลาซ่าสาธารณะกลางแจ้งและทางเดิน ซึ่งช่วยให้ Google Visitor Experience เป็นสถานที่ที่มีชีวิตชีวาและต้อนรับทุกคน

ผลงานศิลปะแต่ละชิ้นที่รังสรรค์โดยศิลปินทั้งจากใกล้ไกลล้วนออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับพื้นที่นั้น ช่วยสร้างสถานที่รอบอาคารให้เป็นที่รวมตัว และสร้างโอกาสสำหรับการเล่นและประสบการณ์ที่สนุกสนาน ในขณะเดียวกัน ผลงานศิลปะยังคงรักษาเป้าหมายที่เข้มงวดด้านความยั่งยืนและวัสดุที่ดีต่อสุขภาพของ Gradient Canopy เนื่องจากผลงานศิลปะแต่ละชิ้นทำจากวัสดุที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีแดง (หมายถึงหลีกเลี่ยงส่วนผสมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมมากที่สุด) และสนับสนุนความพยายามที่จะลดขยะเป็นศูนย์ เช่นเดียวกับวัสดุภายในและบนอาคารหลังนี้ ผลงานศิลปะมีส่วนช่วยในความพยายามของ Gradient Canopy ให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน Materials Petal ภายใต้ Living Building Challenge (LBC) จากสถาบัน International Living Future Institute (ILFI)

สำหรับการสร้างแนวคิดศิลปะสาธารณะที่ Gradient Canopy เป้าหมายของเราคือการระบุผลงานศิลปะที่น่าสนใจและแปลกตา ซึ่งจะทำให้พลาซ่ากลางแจ้งเป็นสถานที่ที่น่าสำรวจและกลับมาเยี่ยมชมซ้ำแล้วซ้ำเล่า กล่าวโดยสรุปก็คือความปรารถนาผลงานศิลปะที่ไม่เหมือนงานในพิพิธภัณฑ์ แต่เป็นเหมือนงานสร้างสรรค์ที่พบเห็นได้ในงาน Burning Man ที่แบล็กร็อกซิตี เมืองชั่วคราวประจำปีในทะเลทรายเนวาดา ซึ่งเป็นที่รู้จักจากศิลปะจัดวางที่เฉพาะเจาะจงกับสถานที่และกระตุ้นความรู้สึก ในการค้นหาพันธมิตรเพื่อช่วยให้ศิลปะในพลาซ่ามีชีวิตชีวา เราได้ร่วมงานกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอย่าง Burning Man Project เพื่อประสานงานกระบวนการคัดเลือกผลงานศิลปะที่ขับเคลื่อนโดยชุมชน ด้วยความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในการมีส่วนร่วมของชุมชน Burning Man Project สอดคล้องกับเป้าหมายของเราในการสร้างศิลปะสาธารณะที่มีปฏิสัมพันธ์ มีส่วนร่วม และนำเสนอประสบการณ์ร่วมของการแสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์

ผลงาน Halo (รัศมี) ของ SOFTLab ที่ Google Visitor Experience

ผลงาน Halo (รัศมี) ของ SOFTLab ที่ Google Visitor Experience ภาพ: Mark Wickens

เรารู้ว่าเราต้องการเลือกผลงานศิลปะที่จะเป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งต่อชุมชนท้องถิ่นและ Google ด้วยความช่วยเหลือจาก Burning Man Project เราได้จัดการรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนและการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการคิดเชิงออกแบบด้วยกันหลายครั้ง ซึ่งเชิญชุมชนท้องถิ่นให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับงานศิลปะที่จะสร้างพื้นที่ชุมชนที่มีชีวิตชีวาที่สุด ในการรวมตัวกันหลายๆ ครั้ง เราได้รับฟังเรื่องราวของชุมชนเกี่ยวกับการผจญภัยและความอยากรู้อยากเห็นในวัยเด็ก วิธีที่ผู้คนใช้สถานที่สำคัญในการบอกทิศทาง และความปรารถนาอันแรงกล้าต่อสิ่งที่น่าสนุก หลายคนหวังว่าจะได้เห็นผลงานศิลปะแบบอินเทอร์แอกทีฟที่พึ่งพาเทคโนโลยีน้อยลงและเน้นประสบการณ์ที่สัมผัสได้และลงมือปฏิบัติจริงมากขึ้น นอกจากนั้น เรายังเชิญชุมชนให้ลงคะแนนเลือกผลงานศิลปะสุดท้ายผ่านเว็บไซต์สาธารณะอีกด้วย

ผลงาน Curious (อยากรู้อยากเห็น) โดย Mr & Mrs Ferguson Art

ผลงาน Curious (อยากรู้อยากเห็น) โดย Mr & Mrs Ferguson Art ภาพ: Mark Wickens

จากการเปิดรับสมัครศิลปินระดับนานาชาติที่มีผู้สมัครมากกว่า 200 ราย ผลงานศิลปะสาธารณะ 6 ชิ้นที่ได้รับเลือกก็ช่วยแปลงเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่ใหญ่กว่าของอาคารหลังนี้ให้เป็นประสบการณ์ของมนุษย์ที่จับต้องและเข้าถึงได้ ผลงานศิลปะแต่ละชิ้นสร้างขึ้นด้วยวัสดุที่ดีต่อสุขภาพซึ่งมาจากแหล่งที่ยั่งยืนหรือมีการนำกลับมาใช้ใหม่ ตัวอย่างเช่น ผลงาน "Curious (อยากรู้อยากเห็น)" โดย Mr & Mrs Ferguson Art เป็นประติมากรรมหมีกริซลี่ยักษ์ สัตว์ประจำรัฐแคลิฟอร์เนียอย่างเป็นทางการ ซึ่งขนของมันสร้างจากเหรียญเพนนีมากกว่า 160,000 เหรียญ โดยรวมแล้ว ผลงานศิลปะสาธารณะเหล่านี้มอบช่วงเวลาแห่งความตื่นตาและเบิกบานใจ ทำให้เกิดสถานที่สำหรับทั้งชุมชนและชาว Googler ที่จะมารวมตัวกัน ได้ครุ่นคิด และได้รับแรงบันดาลใจ